Social Network หรือ สังคมออนไลน์ ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว มีจำนวนประชากรบนโลกออนไลน์นี้ในระดับ 400 ล้านคนทั่วโลก กระจายไปยังผู้ให้บริการอย่าง Facebook, Hi5, Twitter, Blog, Space และอื่นๆ ในประเทศไทยเราถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้เฟสบุ๊ก (Facebook) รวดเร็วที่สุดอันดับ 2 ของโลก ชนะประเทศอื่นๆในแถบอาเซียน เครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นเป็นดาบสองคม เหรียญสองด้าน ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษพอๆ กัน หากไม่ระมัดระวังเพียงพอ โทษที่เราได้รับนั้นอาจถึงขั้นต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเลยทีเดียว
หลังจากที่มีผู้พยายามจะส่งเสริมให้นำเอาสังคมออนไลน์มาใช้ในทางการศึกษา โดยบอกเล่าถึงแต่สิ่งดีๆ ไม่บอกถึงผลกระทบที่อาจตามมาในภายหลังซึ่งเป็นการสูญเสียที่มากมายยากจะคาด ถึง อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่ามันมีโทษหรือรู้แต่ไม่บอก (กลัวอย่างแรกล่ะมากกว่า) วันนี้เลยต้องนำมาถกประเด็นให้ขยายความคิด รับรู้ถึงภัยที่จะตามมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กัน รู้ไว้เพื่อป้องกันตัว ไม่ได้ห้ามใช้งานนะครับ...
แต่ถามว่าในบรรดาชาวเฟสบุ๊กนับล้านของไทยที่เพลิดเพลินกับการอัป โหลดรูปภาพ และข้อความ คอมเมนท์โต้ตอบในหมู่เพื่อน จะมีสักกี่คนที่รับรู้ว่าจะต้องเล่นเฟสบุ๊กอย่างไร? จึงจะไม่ต้องปวดหัวกับพิษภัยที่อาจตามมา ซึ่งในต่างประเทศเคยมีกรณีแล้วว่า เหยื่อฆาตกรรมรายหนึ่งถูกคร่าชีวิตสำเร็จเพราะเฟสบุ๊กเป็นเหตุ
เมื่อคำตอบคือ "น้อยมาก" ผู้ที่ถูกมองว่าควรจะต้องรับหน้าสางปมนี้อย่างจริงจังก็คือรัฐบาล
นี่ไม่ใช่การโยนภาระหน้าที่ให้รัฐบาลแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เพราะในประเทศใหญ่ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา หรือ สหราชอาณาจักรฯ นั้นต่างมีรัฐบาลเป็นแม่งานรณรงค์อย่างเป็นขั้นตอนและจริงจัง เนื่องจากฝรั่งนั้นมองว่า หากจัดระเบียบความปลอดภัยบนเครือข่ายสังคมได้ ปัญหาความมั่นคงของชาติก็จะหมดไปด้วย
หลายคนแย้งว่า "เฟสบุ๊กที่พวกเราโพสต์ข้อมูลส่วนตัวแบบไก่กาฮาเฮมันไปเกี่ยวอะไรกับความมั่นคงระดับชาติ" ตรงนี้อาจารย์ปริญญา หอมเอนก หัวเรือใหญ่สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศหรือ Thailand Information Security Association (TISA) ไขข้อสงสัยว่า "หากรัฐบาลไทยตื่นตัว และมีมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยของการใช้งานเครือข่ายสังคมอย่างจริงจัง รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และฆ่าตัดตอน การปล่อยข่าวลวงทางทหารได้"
อาจารย์ยกตัวอย่างว่า "ความไม่รู้ของชาวออนไลน์ทั่วโลกทำให้เฟสบุ๊กกลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม ของแฮกเกอร์จอมขโมยตัวตนในขณะนี้ วิธีการคือแฮกเกอร์จะเข้าไปศึกษาข้อมูลประวัติส่วนตัวของเหยื่อในเฟสบุ๊ก หรือเครือข่ายสังคมค่ายอื่นๆ จากนั้นจึงใช้ข้อมูลที่ได้มาในการตอบคำถามซึ่งเหยื่อตั้งไว้กรณีลืมรหัสผ่าน ทำให้ผู้ที่ตั้งคำถามง่ายๆ ประเภท ชื่อโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา หรือชื่อกลาง บิดรมารดา ถูกสวมรอยว่าลืมรหัสผ่าน และถูกขโมยรหัสผ่านไปได้อย่างง่ายดาย ซึ่งแฮกเกอร์สามารถปู้ยี่ปู้ยำตัวตนของเหยื่อได้ด้วยรหัสผ่านที่ได้มา เช่นการสวมรอยเข้าไปโพสต์ข้อความหมิ่นฯ หรือการปล่อยข่าวลวงที่สร้างความปั่นป่วน
อาจารย์บอกเลยว่า "รัฐบาล ควรเข้ามารีเสิร์ชหรือวิจัยคนไทยที่ เล่นเฟสบุ๊กอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แล้วจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบแบบในมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ที่ภาครัฐตื่นตัวและเตรียมบุคลากรระดับด็อกเตอร์ พร้อมเงินทุนไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำบนเฟสบุ๊กหรือเครือข่ายสังคมค่ายใดก็ตาม"
"คนใช้เครือข่ายสังคมในไทยยังมีความรู้เรื่องนี้ระดับเบบี๋มาก ถ้าเทียบกับแคมเปญ "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" ที่ สสส .เคยทำมา เชื่อเด็กไทย 9 ใน 10 ไม่รู้ถึงโทษในเฟสบุ๊ก มันไม่มีสอนในโรงเรียนหรือการปฐมนิเทศแบบเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งน่าเป็นห่วง"
ความน่าเป็นห่วงของเด็กวัยรุ่นสาวกเครือข่ายสังคมทั่วโลกที่เกิดขึ้น ความไม่รู้ถึงโอกาสถูกติดตามและถูกคุกคามในโลกความจริง เพียงแค่รูปถ่ายหนึ่งใบที่โพสต์เข้าไปอวดเพื่อนก็สามารถเป็นข้อมูลติดตามตัว ได้ง่ายดาย เช่น รูปถ่ายที่มีชื่ออพาร์ทเมนท์ หรือเลขที่บ้านปรากฏอยู่ ขณะที่อีเมล์แอดเดรสธรรมดา ก็สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาเบอร์โทรศัพท์บนโลกออนไลน์ได้
"ในสหรัฐฯ นั้นมองว่าเรื่องความปลอดภัยบนเครือข่ายสังคมเป็น Culture หรือวัฒนธรรมที่ต้องแก้ไข เช่นเดียวกับในอังกฤษที่เค้ามองว่าต้องให้ความรู้พลเมืองที่เป็นเจเนอเรชัน Y หรือพวกที่ใจร้อนคลิกเร็ว โดยไม่ระวังภัยที่อาจเกิดขึ้น ของเราเองก็ควรทำให้คนไทยระวังตัวเรื่องขโมยตัวตน ซึ่งหากถูกแอบอ้างก็จะมีความผิดได้ ต้องให้เด็กไทยรู้เป็นเรื่องเป็นราวว่ามันเป็นดาบ 2 คม ไม่ใช่ไม่ดีแต่ควรเล่นอย่างไรให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย ทำไมต้องจำกัดเฟสบุ๊ก แต่ไม่ต้องจำกัดทวิตเตอร์" ลองค้นหาข้อมูลกันดูจาก Google
มาจาก krumontree
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น