P.pw - Shorten urls and earn money!

รอยเท้าหรือร่องรอยในการท่องอินเทอร์เน็ต จะมีวิธีการป้องกันและลบอย่างไร เพื่อความเป็นส่วนตัว

หลายคนคงจะเคยสงสัยและได้ยินมาบ้างว่า การท่องเน็ตควรระวังในการที่เว็บต่างๆ จะเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราไปโดยที่เราไม่รู้ตัว บทความนี้เป็นการอธิบายคร่าวๆ ให้เห็นภาพว่าการเก็บข้อมูลดังกล่าวคืออะไร ทำอย่างไร แล้วข้อมูลเหล่านั้นมีผลกับเราอย่างไร


เมื่อเราท่องเน็ต

ปกติแล้วเมื่อเราท่องเน็ตกันโดยเฉพาะการท่องเว็บต่างๆ ตัวเว็บเหล่านั้นมักจะสร้างและเก็บร่องรอยของเราไว้ ว่าเราเป็นใคร (IP อะไร) มาจากไหน และกำลังจะไปไหน ร่องรอยที่เก็บนั้น เช่น

  • IP Address: เมื่อคุณเริ่มต่ออินเตอร์เน็ตแต่ละครั้ง คุณจะได้รับแจกเลข IP Address จากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ซึ่งเลขนี้จะอยู่ในรูปแบบ aaa.bbb.ccc.ddd เช่น 98.12.45.119 (มันจะมีความหมายอย่างไร ไม่อยู่ในจุดประสงค์ของเรื่องที่กำลังจะคุยนี้ รู้ไว้แต่ว่ามันคือเลขประจำเครื่องเรา สำหรับการต่ออินเตอร์เน็ตในครั้งนั้น และณ.เวลานั้น ) สำหรับผู้ใช้ตามบ้านทั่วไป เลขนี้แทบจะไม่เหมือนกันในการต่อเน็ตแต่ละครั้ง (เมื่อคุณต่อเน็ต คุณจะได้เลขนี้มา และใช้มันจนคุณเลิกต่อเน็ต หรือเน็ตหลุด เมื่อคุณต่อเน็ตอีกครั้งใน 1 นาทีถัดมา คุณจะได้เลขชุดใหม่ที่อาจจะเหมือนเดิม หรือไม่เหมือนเดิมก็ได้) และแน่นอนว่า ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตย่อมต้องบันทึกเลขนี้ไว้ ว่าใครเป็นคนใช้มัน และใช้ในช่วงวันเวลาใดบ้าง
  • Cookies: ไม่ใช่ขนมที่เรากินกันนะ แต่อันนี้เป็นศัพท์เทคนิค หมายถึงไฟล์เล็กๆ ที่เว็บแต่ละเว็บ (ที่เราท่องไป) สร้างขึ้นไว้ในเครื่องเราเอง ปกติแล้วไฟล์นี้จะใช้เก็บข้อมูลการท่องเว็บของเรา เช่น IP Address, ชื่อผู้ใช้, วันเวลา, หน้าเว็บที่เข้าไป, การทำธุรกรรม และอื่นๆ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าเว็บนั้นอยากจะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง (แต่ cookies นี้ไม่สามารถอ่านข้อมูลจากไฟล์อื่นๆ จากเครื่องของเราได้ ข้อมูลใน cookies ต้องเป็นข้อมูลที่เกิดระหว่างการท่องเว็บนั้นๆ เท่านั้น)
  • Data: อันนี้เป็นข้อมูลที่เว็บที่เราท่องไปนั้น เก็บรวบรวมไว้ที่ฐานข้อมูลของเว็บเอง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเว็บจะเก็บอะไรบ้าง แต่ก็คล้ายๆ กับ Cookies นั่นแหละ เพียงแต่คราวนี้มันอยู่ตัวเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเว็บ ไม่ได้อยู่บนเครื่องเราเอง

ร่องรอยที่ทิ้งไว้ นำไปทำอะไรได้

ยกตัวอย่างสั้นๆ ซึ่งเป็นกรณีทั่วไปก็แล้วกัน หากเว็บนั้นเก็บเลข IP ของเราไว้ พร้อมวันเวลาที่เราใช้งาน แล้วสามารถนำเลข IP นั้นไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ได้ (ซึ่งแน่นอนว่า ISP จะต้องร่วมมือด้วยนะ) ก็จะทำให้ทราบว่า ใครเป็นผู้ใช้หมายเลข IP นั้น (โทรศัพท์เบอร์อะไร ที่อยู่ ชื่อ นามสกุล)
แต่หากเป็นข้อมูลส่วนตัวที่เรากรอกเข้าไปที่หน้าเว็บเพื่อทำธุรกรรม เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรต่างๆ เบอร์โทร ที่อยู่ และอื่นๆ อันนี้ยังไงคุณก็ต้องกรอกลงไป หลังจากกรอกแล้วก็ต้องขึ้นกับว่าข้อมูลที่เรากรอกไปนั้น ทางเว็บจะนำไปเก็บอย่างไร มีการเข้ารหัสหรือไม่ ส่งต่อไปให้ใคร และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทางเว็บนำไปทำอะไร?
เมื่อทราบดังนี้แล้ว เราคงจะเห็นกันว่าข้อมูลที่ทางเว็บเก็บไว้นั้น แบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ
  • ข้อมูลทางเทคนิค เช่น IP Address, ที่มา, ที่ไป, วันเวลา, cookies และอื่นๆ
  • ข้อมูลส่วนตัว เป็นข้อมูลที่เรากรอกเข้าไปเอง เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตร เป็นต้น

แล้วเราจะปกป้องข้อมูลของเราอย่างไร

การปกป้องข้อมูลคงทำได้บ้างในบางกรณี (ไม่ทั้งหมด) แต่มีคำแนะนำสำหรับการปกป้องข้อมูลคร่าวๆ คือ
  1. การปกป้องข้อมูลทางเทคนิค อันนี้ก็ต้องใช้วิธีทางเทคนิคเข้าช่วย เช่น การ่องเว็บแบบปกปิดตัวตน (Anonymous Surfing), การใช้เครื่องมือช่วย เพื่อกำจัดร่องรอยข้อมูลต่างๆ
  2. การปกป้องข้อมูลส่วนตัว อันนี้มีข้อเสนอแนะกว้างๆ คือ
  • ให้สังเกตว่าข้อมูลที่ให้เรากรอกนั้น มันสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด ให้กรอกเกินความจำเป็นหรือไม่ เช่น ให้สมัครสมาชิกธรรมดา แต่ดันถามเลขบัตรเครดิตด้วย, อยู่ๆ ส่งอีเมล์มาหาเรา ว่าปรับปรุงระบบใหม่ หรือมีโปรโมชั่นพิเศษ แต่ต้องให้เรากรอกชื่อและรหัสผ่านด้วย ยังมีกรณีอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็สงสัยไว้ก่อนเลยว่า เว็บนั้นมีพฤติกรรมน่าสงสัย
  • อย่าใช้ชื่อ, รหัสผ่าน และอีเมล์ เหมือนๆ กันที่ทุกเว็บที่เราไปเป็นสมาชิก หรือทำธุรกรรม เพราะมีความเสี่ยงอย่างมาก หากวันใดที่เราต้องเสียรู้ข้อมูลเหล่านี้ๆ จะได้จำกัดวงความเสียหายไว้ได้ ถึงมันจะยุ่งยากในการจดจำ แต่ปลอดภัยในระยะยาว (อย่าบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้ในกระดาษ หรือในเครื่อง และถ้าจำเป็น ก็หา “โปรแกรมเข้ารหัส” มาเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้จะปลอดภัยที่สุด)

การท่องเน็ตแบบปกปิดตัวตนคืออะไร ?

การท่องเน็ตแบบปกปิดตัวตน (Anonumous Surfing) ก็คือการท่องเน็ตแบบไม่ทิ้งหลักฐานไว้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน และจะไปที่ไหน คำว่า “ปกปิดตัวตน” นั้นออกจะให้ความหมายที่ไม่ตรงนักทั้งหมด เพราะบางส่วนมันเป็นการปลอมชื่อรวมเข้าไปด้วย คือถ้าเราใช้ IP หมายเลข 98.12.45.119 เราอาจปลอมตัวให้เว็บเห็นเป็น 222.111.100.20 ก็ได้เป็นต้น
ถึงจะปิดบังชื่ออย่างไรก็ตาม ข้อมูลการท่องเว็บอื่นๆ ก็ยังถูกเก็บได้โดยเว็บได้อยู่ดี (ก็เราเข้าไปในเว็บคนอื่นนี่นา) ดังนั้นในการท่องเว็บ เราต้องพิจารณาว่า อะไรที่เราปิดบังได้ อะไรที่ปิดบังไม่ได้ มิฉะนั้นความเป็นส่วนตัวของเราก็อาจถูกล้ำเส้นที่ขีดไว้ก็ได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Loading

แบ่งปัน/แชร์ใหักับเพื่อนๆ

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More